thericher
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

บทที่  8 

การเขียนรายงานวิชาการ 

            

การเขียนรายงานวิชาการ เป็นการนำเสนองานเขียนรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถใช้ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถาบันอุดมศึกษาว่ามีความสามารถในการศึกษาค้นคว้าหรือการแสวงหาประสบการณ์จากแหล่งเรียนรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใดและบรรลุเป้าหมายหรือไม่ นอกจากนี้ การเขียนรายงานวิชาการยังเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และมีความคิดที่สร้างสรรค์


ความหมายของรายงานวิชาการ

รายงานวิชาการ เป็นผลงานการเรียบเรียงเนื้อหาจากการศึกษาค้นคว้าแล้วนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการเขียน ตามรูปแบบที่กำหนด ความหมายของรายงานวิชาการ มีผู้ให้ความหมายเป็นไปในแนวเดียวกัน ดังนี้

นภาลัย  สุวรรณธาดา (2548 : 206)  กล่าวว่า รายงานวิชาการ หมายถึง เรื่องราวที่เป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ หรือความรู้ อันเกิดจากการรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการศึกษาค้นคว้าที่เป็นระบบ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2550 : 191) กล่าวว่า รายงานวิชาการ หมายถึง ผลของการศึกษาค้นคว้าเรื่องทางวิชาการที่เรียบเรียงขึ้นอย่างมีแบบแผน เพื่อเสนอเป็นส่วนประกอบของการศึกษาวิชาต่าง ๆ การทำรายงานด้วยตนเองจะทำให้ผู้ทำรายงานมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ศึกษาได้กระจ่างขึ้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2550 : 28) กล่าวว่า รายงานวิชาการ หมายถึง เอกสารที่ได้จากการค้นคว้า สำรวจ รวบรวม ศึกษา หรือวิเคราะห์เรื่องทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียดและมีเหตุผล แล้วนำมาเรียบเรียงตามระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้

สรุปได้ว่า รายงานวิชาการ หมายถึง ผลงานที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ แล้วนำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ตามแบบแผนมาตรฐานการเขียนรายงานที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งกำหนด


จุดมุ่งหมายการเขียนรายงานวิชาการ 

การเขียนรายงานทางวิชาการ  มีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจนเกิดทักษะบรรลุตามความมุ่งหมาย  ดังต่อไปนี้

1.  เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้น และมีนิสัยในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอ

2.  เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน  เพราะการอ่านมากจะทำให้มีความรู้มาก และนำไปสู่ความเป็นผู้รอบรู้ที่ชาญฉลาด

3.  เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม รู้จักคิดอย่างเป็นระบบและมีเหตุมีผล  สามารถนำความรู้ต่าง ๆ ที่ตนเองศึกษาค้นคว้ามาเรียบเรียงให้เป็นระบบได้

4.  เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้  ความเข้าใจ ในรูปแบบวิธีการเขียนรายงานแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีหลักเกณฑ์ เป็นการสร้างมาตรฐานของรายงานทางวิชาการให้เกิดแก่ผู้เรียน

5.  เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างงานทางวิชาการในรูปแบบของรายงานวิชาการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง  โดยการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งสารนิเทศต่าง ๆ

6.  เพื่อส่งเสริมและสร้างให้ผู้เรียนเกิดแนวคิดเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ในการสร้างงานวิชาการด้วยตนเอง ตลอดจนรู้จักการให้เกียรติผู้อื่น เมื่อต้องการคัดลอก หรืออ้างอิงงานเขียนของผู้อื่นมาไว้ในรายงานของตน

7.  เพื่อฝึกทักษะการอ่าน การจับใจความสำคัญ การเรียบเรียง หรือการเขียนด้วยการใช้ภาษาที่สื่อความหมายเป็นภาษามาตรฐาน และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8.  เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เกิดแก่ผู้เรียน ในการนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการเขียนรายงานขั้นต้นไปใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาค้นคว้า และการเขียนรายงานทางวิชาการขั้นสูงต่อไป


ประโยชน์ของการเขียนรายงานวิชาการ 

การที่ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้  และนำมาเรียบเรียงเขียนเป็นรายงานวิชาการแล้ว  จะได้รับประโยชน์ดังต่อไปนี้

1.  ทำให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน รักการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ

2.  ทำให้ผู้เรียนมีความรอบรู้เพิ่มพูนในสรรพวิทยาการต่าง ๆ  มากขึ้น

3.  ทำให้ผู้เรียนกระตือรือร้น รู้จักวิธีแสวงหาความรู้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง

4.  ทำให้ผู้เรียนรู้จักการใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และสร้างทักษะในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

5.  ทำให้ผู้เรียนมีความซื่อสัตย์ในการทำงานเป็นผู้มีมารยาทและให้เกียรติผู้อื่นเป็นอย่างดี

6.  ทำให้ผู้เรียนสามารถคิดและเรียบเรียงความคิดได้อย่างเป็นระบบ  สามารถนำเสนอความคิดนั้น เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่ายและสร้างสรรค์

7.  ทำให้เกิดความรู้ ทฤษฎีหรือข้อเท็จจริงใหม่ ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหา

หรือเพื่อพัฒนาตนเอง สังคมและประเทศชาติได้ในที่สุด


ประเภทรายงานทางวิชาการ 

รูปแบบของรายงานทางวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (2550 : 1-2) แบ่งรายงานทางวิชาการออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. รายงาน (Report) เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ผู้สอนอาจเป็นผู้กำหนด หรือผู้เรียนอาจเลือกทำตามความสนใจของตนเอง แล้วนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียบเรียงข้อมูลอย่างมีระบบเป็นระเบียบแบบแผนตามข้อกำหนดของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งการทำรายงานนั้นอาจทำเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มก็ได้ 

2.  ภาคนิพนธ์ (Term Paper) เป็นการแสดงผลการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นเดียวกับรายงาน แต่มีขอบเขตกว้างกว่า ความยาวของเนื้อหามากกว่า และระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้ายาวกว่า โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 ภาคการศึกษา เพราะจะเป็นหลักฐานยืนยันว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาโดยรวมทั้งหมดมากน้อยเพียงใด

3.  ปริญญานิพนธ์ หรือ วิทยานิพนธ์ (Thesis or Dissertation)  เป็นผลงานที่เรียบเรียงขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นการศึกษาเฉพาะบุคคล ซึ่งหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์จะมีขอบเขตกว้างขวางลึกซึ้งกว่ารายงานและภาคนิพนธ์  ผู้ทำจะต้องแสดงความสามารถในการศึกษาค้นคว้าและความคิดริเริ่ม อันจะนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิชาการ

4.  ผลงานทางวิชาการ หมายถึง การจัดทำผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ของคณาจารย์ที่สอนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้แก่ เอกสารประกอบการสอน เอกสารคำสอน ตำรา งานวิจัย งานแปล บทความทางวิชาการ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ๆ รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ หรืองานสร้างสรรค์ เครื่องทุ่นแรง ผลงานด้านศิลปะ ผลงานวิชาการดังกล่าวอาจบันทึกในรูปของซีดี (CD) ซีดีรอม (CD-ROM)          วีดิทัศน์ (VIDEO) หรือเอกสารสิ่งพิมพ์ก็ได้

ลักษณะที่ดีของรายงานวิชาการ

รายงานทางวิชาการที่ดี   มีลักษณะ 3  ประการ  ดังนี้

                1.  รายงานที่ดีจะต้องแสดงว่าผู้เขียนรายงานได้เรียนรู้อย่างมากและกว้างขวาง  เพราะก่อน

การเขียนรายงาน ผู้ทำรายงานจะต้องศึกษาค้นคว้า จากเอกสาร หนังสือ ตำรา อย่างหลากหลาย ประมวลความรู้ อย่างเป็นระบบ จับใจความสำคัญของเรื่องที่จะรายงานให้ได้

2. รายงานที่ดีจะต้องแสดงว่าผู้เขียนรายงานได้สะท้อนความคิดที่กว้างไกลและ เรียนรู้อย่างใช้ความคิดวิจารณญาณในการแก้ปัญหา กล่าวคือ ในรายงานควรจะมองไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าเรื่องที่ศึกษานั้น มีส่วนสัมพันธ์กับอนาคตที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าเพียงไร  เช่น ถ้าคนไม่มีงานทำมากขึ้นทุกวัน อะไรจะเกิดขึ้น จะเกิดในลักษณะใด ความรุนแรงของปัญหาจะมีมากน้อยเพียงใด ในรายงานควรแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาให้ชัดเจน และมากพอจนเป็นที่เชื่อถือได้ว่า  นอกจากการรวบรวมข้อมูลแล้วเรายังใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ปัญหาด้วย

                3.  รายงานที่ดีจะต้องแสดงว่าผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ กล่าวคือ เมื่อศึกษาอย่างลึกซึ้งกว้างขวางมองไปไกลถึงอนาคตแล้ว ผู้เขียนต้องแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และมีข้อเสนอแนะใหม่ ๆ ต่อสาระที่เสนอด้วย 

ส่วนประกอบของรายงานวิชาการ  

การเขียนรายงาน (Report) มีส่วนประกอบ 3  ส่วน ดังนี้ 

                1.  ส่วนประกอบตอนต้น (The Front Matter or Preliminaries) ประกอบด้วย

                   1.1  หน้าปกนอก (Cover or Binding) ควรใช้กระดาษแข็ง หรือกระดาษค่อนข้างหนา กว่ากระดาษที่ใช้พิมพ์รายงาน เป็นกระดาษสีเรียบไม่มีลวดลาย รายละเอียดข้อมูลหน้าปก มีดังนี้

              1.1.1  ข้อมูลส่วนบน ชื่อรายงาน 

              1.1.2  ข้อมูลส่วนกลาง ชื่อ-นามสกุล ผู้เขียนรายงาน 

                1.1.3  ข้อมูลส่วนล่าง ชื่อวิชาที่กำหนดให้ทำรายงาน ชื่อสถานศึกษาของผู้ทำรายงาน และข้อมูลภาคเรียนพร้อมทั้งปีการศึกษาที่ทำรายงาน 

     1.2  ใบรองปก (Blanket Page) เป็นกระดาษเปล่าสีขาว  1 แผ่น

     1.3  หน้าปกใน (Title Page) ประกอบด้วยรายละเอียดข้อมูลเหมือนหน้าปกนอกทุกประการ ต่างเพียงกระดาษที่ใช้เป็นกระดาษอ่อนเช่นเดียวกับกระดาษพิมพ์รายงาน

     1.4  คำนำ (Preface) เป็นส่วนที่ผู้เขียนรายงานบอกถึงวัตถุประสงค์ของการทำรายงานบอกขอบเขตเนื้อหา ประโยชน์ที่ได้รับ รวมถึงการขอบคุณบุคคลผู้เกี่ยวข้องที่ให้ความช่วยเหลือ  การทำรายงานนี้ แล้วลงชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปี

     1.5  สารบัญ (Table of Contents)  คือ ส่วนที่ระบุให้ทราบจำนวนบท  หรือหัวข้อในแต่ละบท โดยระบุสัญลักษณ์กำกับหน้าที่แตกต่างจากส่วนของเนื้อหาไว้ เพื่อช่วยให้ความสะดวกในการค้นหาหรือเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่ต้องการ

     1.6  สารบัญตาราง (List of Table) สารบัญภาพประกอบ (List of Illustration) หรือสารบัญแผนภูมิ (List of Charts) ใช้กรณีที่รายงานนั้นมีตาราง ภาพ หรือ แผนภูมิประกอบ ถ้ามีผู้เขียนจะต้องทำสารบัญตาราง สารบัญภาพประกอบ หรือสารบัญแผนภูมิ ไว้ต่อจากหน้าสารบัญตามลำดับโดยใช้วิธีการเขียนเช่นเดียวกับสารบัญ เพียงเปลี่ยนคำว่า “บทที่” เป็น “ภาพประกอบที่” หรือ “ตารางที่” หรือ “แผนภูมิที่” และมีหน้ากำกับที่ชัดเจนโดยใช้สัญลักษณ์ที่แตกต่างจากส่วนของเนื้อหา

ตัวอย่าง  ปกนอกของรายงานวิชาการ

 
 


                             ท้องถิ่นวรรณกรรม

 

 

 

 

                               กมลชนก   งามดี 

 

 

 

 

 

 

    รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

             ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา  2550






 






















2.  ส่วนเนื้อหา  

    ส่วนเนื้อหา คือ เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรายงาน ผลจากศึกษาค้นคว้าจะนำมาเสนอตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนนำ  เนื้อหา และส่วนสรุป ดังนี้

     2.1  ส่วนนำหรือบทนำ ซึ่งผู้เขียนอาจกล่าวถึงมูลเหตุของการทำรายงาน จุดประสงค์ ขอบข่ายเนื้อหา ความสำคัญของเรื่องศึกษา หรือ อาจกล่าวถึงความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจะนำเสนอ เช่น ความเป็นมา  ความหมาย ความสำคัญ วัตถุประสงค์  ประเภท  ฯลฯ ซึ่งต้องนำเสนอให้ครอบคลุมในบริบทเบื้องต้นไว้ในบทแรก  เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้อ่านทราบก่อนนำเข้าสู่รายละเอียดแต่ละองค์ประกอบหรือแต่ละประเด็นหลักของเรื่องในบทต่อ ๆ ไป

     2.2  ส่วนกลาง เป็นการนำเสนอเนื้อหา อาจแบ่งนำเสนอเป็นหลายบท ทั้งขึ้นอยู่กับประเด็นหลักหรือองค์ประกอบสำคัญที่กำหนดไว้ในโครงเรื่อง การนำเสนอเนื้อหาที่ดีผู้เขียนต้องคำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้

          2.2.1 การนำเสนอเนื้อหาในแต่ละบท จะต้องแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วน ส่วนนำ ส่วนเนื้อหาและส่วนสรุป เช่นเดียวกับส่วนของเนื้อหาทั้งเรื่อง และเนื้อหาในแต่ละบทจะต้องมีความสั้นยาวใกล้เคียงกัน

          2.2.2  การเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อการนำเสนอ ผู้เขียนควรเรียบเรียงด้วยสำนวนภาษาของผู้เขียน ซึ่งจะประกอบไปด้วย ข้อมูลที่เป็นทั้งแนวคิดทฤษฎีหรือหลักการ และข้อมูลส่วนที่เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนด้วย

          2.2.3  ข้อมูลที่เป็นแนวคิดทฤษฎีหรือหลักการอันเป็นข้อเท็จจริง ควรมีการอ้างอิง ตามรูปแบบมาตรฐานของสถาบันกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงที่มาของข้อมูล และเพื่อให้เกียรติเจ้าของข้อมูลด้วย

          2.2.4  การนำเสนอเนื้อหา อาจมีตาราง ภาพ แผนภูมิ หรือแผนที่ประกอบด้วยตามลักษณะความเหมาะสมของเนื้อหาที่ทำรายงานในแต่ละวิชา

   2.3  ส่วนสรุปหรือบทสรุป เป็นการสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละเรื่องหรือเน้นจุดสำคัญที่ค้นพบในการทำรายงานครั้งนี้ หรืออาจมีข้อเสนอแนะด้วยก็ได้ 

3.  ส่วนประกอบตอนท้าย

                     ส่วนประกอบตอนท้าย ประกอบด้วยส่วนประกอบย่อย ดังนี้

   3.1 บรรณานุกรม (Bibliography) เป็นรายชื่อหนังสือและวัสดุอ้างอิงที่ผู้เขียนใช้ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อทำรายงาน ซึ่งต้องเขียนเรียงตามอักษร

    3.2 ภาคผนวก (Appendix) เป็นข้อมูลที่นำมาเพิ่มเติมซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายงาน    แต่มีขนาดยาวและเป็นเอกสารหายาก  ถ้านำไปรวมไว้ในเนื้อเรื่อง อาจทำให้เนื้อหาไม่ติดต่อกัน

      3.3   ดรรชนี (Index) เป็นบัญชีคำศัพท์หรือชื่อสำคัญ ๆ ที่ปรากฏในรายงาน เรียงตามลำดับตัวอักษรพร้อมทั้งบอกเลขหน้าของรายงานที่มีคำนั้นปรากฏ

   3.4  อภิธานศัพท์ (Glossary) เป็นส่วนที่รวบรวมคำอธิบายศัพท์ยากไว้ในเนื้อเรื่องของ

รายงาน  ซึ่งส่วนมากจะเป็นรายงานทางวิชาการที่มีคำศัพท์มาก ๆ และคำศัพท์เหล่านั้นจะเรียงตามลำดับตัวอักษร

ขั้นตอนการเขียนรายงานวิชาการ

­                   ขั้นตอนของการเขียนรายงาน (Report) ศศิธร ธัญลักษณานันท์ และคนอื่นๆ (2542 : 308-

312) กล่าวว่าการเขียนงานวิชาการมีขั้นตอนตามลำดับ  ดังนี้

1.  การเลือกหัวข้อเรื่องและชื่อเรื่องของรายงาน  

   การเลือกหัวเรื่องหรือหัวข้อเรื่อง เป็นขั้นตอนแรกของการทำรายงาน ซึ่งผู้สอนอาจเป็นผู้กำหนดให้หรือผู้เรียนกำหนดเอง หากผู้เรียนกำหนดเองควรคำนึงสิ่งดังต่อไปนี้

     1.1  เลือกเรื่องที่ตนสนใจ  มีความถนัดและต้องการรู้เรื่องนั้น ๆ เพิ่มเติม

     1.2  เลือกเรื่องที่ตนเองพอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้างแล้ว  จะทำให้ได้รายงานที่ดีและช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้ทำรายงานมากขึ้น

     1.3  เลือกเรื่องที่มีแหล่งข้อมูลให้ศึกษาค้นคว้าได้เพียงพอ

     1.4 เลือกเรื่องที่มีขอบเขตของเนื้อหาไม่กว้างหรือแคบเกินไป เพราะถ้าเป็นเรื่องที่เนื้อหากว้างเกินไป อาจทำให้การค้นคว้าได้ไม่ลึกและไม่ทันกำหนดเวลา แต่ถ้าขอบเขตแคบเกินไป จะทำให้การศึกษาครั้งนั้นไม่มีคุณค่า ไม่น่าสนใจและไม่สามารถขยายองค์ความรู้ของผู้เรียนได้ 

     1.5  เลือกเรื่องที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและวิเคราะห์ความสนใจของกลุ่มผู้อ่าน 

     1.6  การตั้งชื่อเรื่องควรตั้งให้กะทัดรัด ตรงตามเนื้อหาและสอดคล้องวัตถุประสงค์ที่จะเขียน  

2.  การสำรวจและรวบรวมข้อมูล

                     การสำรวจแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการศึกษาค้นคว้า การทำรายงานจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีข้อมูลเพียงพอ ผู้ศึกษาควรสำรวจและรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดและต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัยจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ 

                      2.1  การสำรวจแหล่งข้อมูล  สามารถค้นได้จากแหล่งต่าง ๆ  ดังนี้

                                         2.1.1 บัตรรายการ โดยเฉพาะหัวเรื่องดูจากคำที่เป็นหัวเรื่องที่มีคำตรงกับเรื่องหรือสัมพันธ์กับเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า

                                2.1.2 ดรรชนีวารสารทั้งส่วนที่เป็นดรรชนีวารสารภาษาไทยและดรรชนีวารสารที่เป็นรูปเล่ม เพราะดรรชนีวารสารเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการค้นหาบทความจากวารสาร ผู้อ่านจะทราบว่าบทความที่ต้องการนั้นอยู่ในวารสารชื่ออะไร ฉบับที่เท่าไร ใครเขียน วัน เดือน ปีที่พิมพ์

               2.1.3 หนังสืออ้างอิง โดยศึกษาคำศัพท์เฉพาะต่าง ๆ จากพจนานุกรม  สารานุกรม  เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานของเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า

            2.1.4  แหล่งสารนิเทศต่าง ๆ เช่น สำรวจจากโสตทัศนวัสดุ และซีดีรอมชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า

     2.2  การรวบรวมข้อมูล

            เมื่อสำรวจแหล่งข้อมูลและพบว่ามีข้อมูลที่ต้องการ วิธีการรวบรวมข้อมูลให้ ดำเนินการดังนี้

                             2.2.1  อ่านคร่าวๆ โดยอาจจะดูจากคำนำ สารบัญ หัวข้อสำคัญ  

                             2.2.2 รวบรวมหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมกับเรื่องที่จะเขียนโดยบันทึกข้อมูลดังกล่าวลงบัตรพร้อมข้อมูลบรรณานุกรมไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการอ่านและค้นหาข้อมูลที่ต้องการต่อไป

3.  การวางโครงเรื่อง  

     3.1  การวางโครงเรื่องที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้

                            3.1.1 โครงเรื่องจะต้องประกอบด้วยชื่อของรายงานเนื้อหาแบ่งออกเป็นบท ๆ แต่ละบทประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ หัวข้อใหญ่ที่มีความสำคัญมากและหัวข้อย่อยที่มีความสำคัญรองลงมาเรียงตามลำดับ

                            3.1.2  เนื้อหาของแต่ละบท  ควรมีความสั้นยาวใกล้เคียงกัน

                          3.1.3  ชื่อหัวข้อควรสั้น กะทัดรัดได้ใจความ ครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้นๆ

                            3.1.4 หัวข้อต่างๆ ต้องเรียงลำดับสัมพันธ์กัน หัวข้อใหญ่สัมพันธ์กับหัวข้อรายงานหรือชื่อของรายงานและหัวข้อย่อยต้องสัมพันธ์กับหัวข้อใหญ่

                            3.1.5 โครงเรื่องต้องเขียนเป็นระบบ สะดวกแก่การอ่านและทำความเข้าใจ ควรเลือกใช้ตัวเลขหรือตัวอักษรตามลำดับการเขียนที่ถูกต้อง มีการย่อหน้าที่เหมาะสม คือหัวข้อที่มีความสำคัญเท่ากัน จะต้องย่อหน้าไว้ตรงกัน ในการจัดวางโครงเรื่องนั้น ไม่ควรแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ มากจนเกินไป  ที่สำคัญคือต้องให้แต่ละหัวข้อเรื่องมีความสัมพันธ์กัน เพื่อให้รายงานมีความต่อเนื่องและการเขียนไม่วกวน

             การวางโครงเรื่องเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเขียนรายงานวิชาการ ถ้าโครงเรื่องดีจะทำให้การเรียบเรียงเนื้อหาเป็นไปตามลำดับและบรรลุวัตถุประสงค์

     3.2 วิธีการวางโครงเรื่อง วิเศษ ชาญประโคน (2550 : 96) กล่าวว่าวิธีวางโครงเรื่องมี 3 ขั้นตอน คือ

           ขั้นที่ 1 รวบรวมข้อมูลและความคิด คือ การนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมารวมเป็นข้อ ๆ ให้ครอบคลุมกับเรื่องที่จะเขียน

            ขั้นที่ 2 จัดกลุ่มข้อมูล คือ นำข้อมูลที่เขียนไว้ในขั้นแรกมาจัดหมวดหมู่ โดยตัดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องทิ้งไป

                            ขั้นที่ 3 ลำดับข้อมูล คือ นำข้อมูลที่เป็นหมวดหมู่แล้วมาจัดระบบ โดยเรียงให้เป็นลำดับขั้นตอนว่าข้อมูลหมวดใดควรเขียนก่อนข้อมูลหมวดใดควรเขียนหลัง เพื่อความสะดวกใน  การเขียนและความเข้าใจของผู้อ่าน

                           ดังนั้น เมื่อได้หัวข้อสำคัญจากขั้นตอนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลแล้วควรนำข้อมูลนั้นมาวางโครงเรื่อง โดยนำหัวข้อสำคัญมาจัดหมวดหมู่ แล้วนำหมวดหมู่ข้อมูลที่จัดแล้วมาเรียงลำดับก่อนหลังให้เป็นระบบ โดยมองความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่มีต่อกันด้วย จะได้โครงเรื่องที่ดีสำหรับการเขียนต่อไป ดังตัวอย่าง

โครงเรื่อง “วรรณกรรมท้องถิ่นมุขปาฐะของไทย”

        1.  บทนำ

2.  วรรณกรรมท้องถิ่นมุขปาฐะภาคเหนือ

             2.1  นิทาน

             2.2  เพลงพื้นบ้าน

                                             2.3  ภาษิต

                             2.4  ปริศนาคำทาย

3.  วรรณกรรมท้องถิ่นมุขปาฐะภาคอีสาน

             3.1  นิทาน

             3.2  เพลงพื้นบ้าน

             3.3  ภาษิต

      3.4  ปริศนาคำทาย

 4.  วรรณกรรมท้องถิ่นมุขปาฐะภาคกลาง

4.1  นิทาน

4.2  เพลงพื้นบ้าน

4.3  ภาษิต

4.4  ปริศนาคำทาย

5.  วรรณกรรมท้องถิ่นมุขปาฐะภาคใต้

              5.1  นิทาน

             5.2  เพลงพื้นบ้าน

             5.3  ภาษิต

             5.4  ปริศนาคำทาย

        6.  สรุป

                   4.  การค้นคว้า รวบรวมและจดบันทึก

       การค้นคว้า รวบรวมและจดบันทึก ผู้เขียนรายงานจะนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ค้นคว้าได้มาอ่านอย่างพิจารณา แล้วจดบันทึกในบัตรข้อมูล ลักษณะของบัตรบันทึกข้อมูลนั้น มีตั้งแต่ขนาด 5x7 หรือ 6x8 หรืออาจตัดกระดาษให้มีขนาดเท่ากัน ๆ ตามที่ต้องการก็ได้ ข้อมูลที่ต้องบันทึกลงบัตร ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 หัวเรื่อง ส่วนที่ 2 แหล่งที่มาให้บันทึกตามรูปแบบการเขียนบรรณานุกรมทุกประการ ส่วนที่ 3 เลขหน้าของข้อมูลที่อ้างอิง และ ส่วนที่ 4 เนื้อหาที่ได้จากการอ่าน ซึ่งการบันทึกเนื้อหาลงบัตรนั้น บันทึกได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

                        4.1  การบันทึกแบบย่อความ เป็นการบันทึกสาระหลักของเรื่องนั้นอย่างสั้น ๆ เนื่องจากการทำงานวิชาการต้องแสวงหาและได้รับความรู้ที่มีการเผยแพร่มากมาย เมื่ออ่านเรื่องใดผ่านไประยะหนึ่งอาจลืมเรื่องนั้นได้ จึงควรจดบันทึกย่อใจความสำคัญหรือเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อเป็นประโยชน์ไว้ในการสืบค้นและการเรียบเรียงขยายความในโอกาสการเขียนรายงานต่อไป       ดังตัวอย่าง

                                                                                          ธรรมเนียมประเพณี

นิตยา บุญสิงห์.  (2546).  วัฒนธรรมไทย.  กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์.  หน้า 71-82

                ธรรมเนียมประเพณี คือ ประเพณีเกี่ยวกับการปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคลที่สังคม

ยอมรับ ไม่มีระเบียบแบบแผนเหมือนขนบประเพณีและไม่มีผิดถูกเหมือนจารีตประเพณี แต่

ธรรมเนียมประเพณีถือเป็นมารยาททางสังคมใครฝ่าฝืนจะถูกมองว่าไม่มีมารยาท ธรรมเนียมประเพณีประกอบด้วย การแต่งกาย วิถีชีวิตการกินอยู่ และกิริยามารยาท ซึ่งจะแตกต่างกันไป

ตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรมและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

 












                        4.2  การบันทึกสรุปความ เป็นการสรุปย่อสาระสำคัญของเรื่องที่อ่าน โดยเอาเฉพาะขอบเขตหรือแนวคิดของเรื่องที่อ่านแล้วจดบันทึกโดยใช้คำที่สำคัญบางคำจากต้นฉบับประสมกับข้อความที่เป็นสำนวนของผู้เขียนเอง  ดังตัวอย่าง

ความสำคัญของการอ่าน 

กอบกาญจน์ วงศ์วิสิทธิ์.  (2551).  ทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสาร.  กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้ง

                เฮ้าส์.  หน้า  87-91

                การอ่านเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มพูนความรู้

และประสบการณ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาสติปัญญาเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เกิด

การพัฒนาทางอารมณ์ที่ดี  ที่สำคัญการอ่านสารประเภทจรรโลงใจทำให้ผู้อ่านสามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างสันติสุข                            

 

            











                        4.3  การบันทึกแบบคัดลอกข้อความ เป็นการคัดลอกข้อความบางตอนจากข้อเขียนที่อ่าน เพื่อใช้ในการอ้างอิง  มักทำในกรณีที่ข้อความนั้นมีลักษณะ ดังนี้

                               4.3.1  เป็นเรื่องสำคัญ  หากไม่คัดลอกข้อความเดิมอาจบันทึกผิดพลาด

             4.3.2   เป็นข้อความที่เขียนไว้อย่างดีถ้าสรุปความอาจไม่ดีเท่าข้อความเดิม

                                  4.3.3   เป็นข้อความที่ผู้เขียนต้องการอ้างอิง  เพื่อสนับสนุนความคิดของตน

           4.3.4  เป็นกฎระเบียบ ซึ่งถ้าไม่คัดลอกอาจเกิดการบิดเบือน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ดังตัวอย่างการบันทึกแบบคัดลอกข้อความที่ต้องการอ้างอิงเพื่อสนับสนุนความคิดของตน

                                                              ความหมายของการเขียน

 นพดล จันทร์เพ็ญ.  (2539).  การใช้ภาษา.  กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ. หน้า 90

                            การเขียน  คือ  การแสดงออกในรูปการติดต่อสื่อสารอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยอาศัยภาษาตัวอักษรเป็นสื่อเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความต้องการและความเข้าใจ

ของผู้เขียนให้ผู้อ่านทราบ



 










                   หลักการบันทึกบัตรข้อมูลนั้น ให้บันทึก 1 บัตร ต่อ 1 แหล่งข้อมูล ต่อ 1 หัวเรื่อง โดยบันทึกหน้าเดียว หากไม่พอให้ต่อแผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3 แล้วเย็บมุมรวมกันไว้ ผู้เขียนควรดำเนินการค้นคว้ารวบรวมและบักทึกข้อมูลให้ครบทุกหัวข้อที่กำหนดไว้ในโครงเรื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายและเพียงพอต่อการเขียนและเรียบเรียงขยายความต่อไป

5.  การเรียบเรียงและจัดทำเป็นรูปเล่ม

   การเรียบเรียงและจัดทำรายงานเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์  สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

                     5.1  นำบัตรบันทึกข้อมูล ที่ได้จากการค้นคว้ามาเรียงลำดับตามโครงเรื่องที่เขียนไว้แต่ตอนต้น หัวข้อใดที่รายละเอียดมากเกินไปควรพิจารณาตัดทิ้งไป หากหัวข้อใดที่มีข้อมูลไม่เพียงพอให้ค้นคว้าและจดบันทึกเพิ่มเติม

                        5.2  เมื่อได้ข้อมูลครบตามโครงเรื่อง ให้พิจารณาตัวโครงเรื่องอีกครั้ง  เพราะบางครั้งอาจต้องปรับปรุงโครงเรื่องใหม่เพื่อให้พอเหมาะกับเนื้อหาที่ได้ค้นคว้ามาแล้ว

                        5.3  เขียนรายงานฉบับร่างให้เป็นไปตามลำดับโครงเรื่องที่ปรับปรุง โดยใช้ถ้อยคำภาษาเข้าใจง่าย กระชับ ได้ใจความ สะกดการันต์ถูกต้อง ส่วนใดจำเป็นต้องอ้างอิงต้องเขียนให้ถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนด

                        5.4  อ่านทบทวนแก้ไขปรับปรุงรายงานฉบับร่าง แล้วคัดลอกหรือพิมพ์รายงานอย่างประณีต เรียบร้อย ถูกต้องตามรูปแบบกำหนด

                        5.5  อ่านตรวจทานความถูกต้องของการเขียนสะกดการันต์ ตรวจสอบรูปแบบการพิมพ์จัดลำดับหน้า จากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่  

                        5.6 เมื่อพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและรูปแบบแล้ว เข้ารูปเล่มให้เหมาะสมกับความหนาของเนื้อหาจะได้รายงานวิชาการฉบับสมบูรณ์ สวยงามและมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับผู้อ่าน

รูปแบบการพิมพ์รายงานวิชาการ

การทำรายงานวิชาการ นอกจากมุ่งเน้นด้านเนื้อหาแล้ว รูปแบบการนำเสนอหรือการเขียน    ก็ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะจะทำให้รายงานอ่านง่าย เป็นระเบียบสวยงาม เช่น การลำดับ    ย่อหน้า การย่อหน้า การใช้เลขกำกับ การเว้นบรรทัด  เป็นต้น 

                   รูปแบบการพิมพ์ แต่ละสถาบันจะกำหนดแบบแผนการพิมพ์ เป็นของตนเอง เพื่อถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์(2550 : 10-16) ได้กำหนดรูปแบบไว้ดังนี้


                   1.  การจัดหน้ากระดาษการพิมพ์

                        1.1  ตัวพิมพ์ให้ใช้เครื่องพิมพ์หมึกสีดำ คมชัด และต้องใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม

                        1.2  กระดาษที่พิมพ์ให้ใช้กระดาษขาวไม่มีบรรทัดขนาด A4 ชนิด 80 แกรม พิมพ์หน้าเดียว

                        1.3  การเว้นที่ว่างขอบกระดาษกรอบของข้อความในแต่ละหน้า จากขอบบนของกระดาษลงมาถึงข้อความบรรทัดแรก และขอบซ้ายของกระดาษถึงอักษรตัวแรกของแต่ละบรรทัดซึ่งเรียกว่าแนวคั่นหน้า ให้เว้นระยะประมาณ 1.50 นิ้ว หรือ 3.81 เซนติเมตร จากขอบล่างของกระดาษถึงอักษรบรรทัดสุดท้ายของแต่ละหน้า และจากขอบขวาของกระดาษถึงอักษรตัวแรกของแต่ละบรรทัด ให้เว้นระยะประมาณ 1.00 นิ้ว หรือ 2.54 เซนติเมตร

                        1.4  การย่อหน้า ย่อหน้าแรกให้เว้นระยะประมาณ 7 ตัวอักษร แล้วพิมพ์ตัวที่ 8  ถ้าพิมพ์คอมพิวเตอร์ให้ตั้งแท็บที่ 0.60 นิ้ว หรือ 1.52 เซนติเมตร

                        1.5  กรณีการย่อหน้าที่มีหัวข้อย่อย ให้เริ่มพิมพ์ตรงกับอักษรตัวแรกของหัวข้อใหญ่ที่พิมพ์ก่อนหน้านี้

                         1.6   การพิมพ์ข้อความที่ย่อหน้าแล้วไม่จบบรรทัดเดียวกัน ให้เริ่มพิมพ์บรรทัดที่สองของหัวข้อนั้น ๆ โดยชิดริมซ้ายที่เว้นจากขอบกระดาษ 1.50 นิ้ว หรือ 3.81 เซนติเมตร

                         1.7 ถ้าต้องการแบ่งบทแต่ละบทต้องมีเลขบอกบทตามลำดับการนำเสนอ ถ้าเป็นภาษา อังกฤษให้ใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด คำว่าบทที่และเลขบอกบทให้พิมพ์บรรทัดแรกสุดและวางข้อความไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษ ชื่อของบทให้พิมพ์บรรทัดถัดไปโดยวางข้อความไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษเช่นเดียวกัน และขนาดตัวอักษรบทที่และชื่อบท ให้ใช้ขนาด 20 พอยต์ ตัวหนา      สีดำ

                        1.8  ข้อความที่เริ่มเนื้อหาให้พิมพ์ห่างจากชื่อบทลงไปสองช่วงบรรทัด ขนาดตัวอักษรข้อความทั่วไปให้ใช้ ขนาด 16 พอยต์ ถ้าเป็นหัวข้อใหญ่ของแต่ละบทให้ใช้ตัวอักษรขนาด 18 พอยต์ ตัวหน้าสีดำ โดยพิมพ์ชิดแนวซ้ายของหน้ากระดาษและห่างจากเนื้อความในย่อหน้าก่อนสองช่วงบรรทัด ส่วนหัวข้อรองให้พิมพ์ย่อหน้าที่ 1 หัวข้อย่อยให้พิมพ์ย่อหน้าที่ 2 และหัวข้อย่อย ๆ ต่อไปให้พิมพ์ย่อหน้าที่ 3 และ 4 ตามลำดับ

                   2.  การเว้นระยะและการใช้เครื่องหมายวรรคตอน  การเว้นระยะในการพิมพ์ทั้งการเว้นระยะระหว่างบรรทัดและการย่อหน้าควรให้มีความสวยงาม

                         2.1  หลังจำนวนเลข ข้อความต่างๆ ในหน้าปกใน หน้าสารบัญ หน้าบัญชีตารางไม่ต้องมีเครื่องหมายมหัพภาค (.) ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ หลังเครื่องหมายมหัพภาคให้เว้นระยะสองช่วงตัวอักษร

ก่อนพิมพ์ข้อความต่อไป ยกเว้นมหัพภาคหลังคำย่อต่าง ๆ ให้เว้นระยะเพียง 1 ตัวอักษรเท่านั้น

                        2.2  สำหรับคำย่อที่มีมากกว่า 1 คำติดกันระหว่างเครื่องหมายมหัพภาคไม่ต้องเว้นระยะ เช่น ศศ.ม.หรือ กศ.บ. เป็นต้น

                        2.3  สูตร สัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ชื่อย่อของหน่วยงานที่เป็นภาษาอังกฤษและรู้จักกันแพร่หลายแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายมหัพภาค สำหรับภาษาไทยให้ใช้ตามความนิยม

                        2.4  ข้อความที่เริ่มต้นด้วยเครื่องหมายอัญประกาศเปิด ( “ ) แล้วขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้ถือว่าเครื่องหมายอัญประกาศเปิดนั้นเท่ากับตัวอักษรตัวหนึ่ง ต้องพิมพ์ตัวที่ 8 เช่นเดียวกับการย่อหน้าแรก

                        2.5  ตัวเลขที่บอกช่วงจำนวนจะต้องใช้จำนวนเต็มทั้งจำนวนหน้าและจำนวนหลัง เช่น พ.ศ. 2550-2552 ตัวเลขสองจำนวนที่จำเป็นต้องเขียนติดกันให้คั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค เช่น 9, 11 หรือถ้าเป็นเครื่องหมายจุลภาคที่คั่นระหว่างตัวเลขที่มีมากกว่าสามหลัก เช่น 24,000 สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องเว้นระยะห่างให้พิมพ์ติดกัน

                   3.  การลำดับหน้าบทและการแบ่งบท

                        3.1  การลำดับหน้าในส่วนนำหรือส่วนตอนต้นของรายงานเริ่มตั้งแต่คำนำเป็นต้นไป ถ้าเป็นภาษาไทยให้ใช้ตัวอักษรเรียงตามลำดับพยัญชนะ สำหรับเอกสารภาษาอังกฤษให้ใช้เลขโรมันตัวเล็ก ส่วนของเนื้อหาเริ่มตั้งแต่บทที่ 1 ให้ใช้ลำดับหน้าโดยใช้หมายเลขเรียงตามลำดับทุกบทไปจนถึงหน้าสุดท้ายของส่วนประกอบตอนท้าย โดยวางเลขกำกับหน้ามุมขวามือของหัวกระดาษ ห่างขอบบนของกระดาษ 0.75 นิ้ว และห่างจากขอบขวาของกระดาษ 1.00 นิ้ว หลังเลขกำกับไม่ต้องมีเครื่องหมายใด ๆ

                        3.2  การแบ่งบทและหัวข้อบท

                               3.2.1  บทที่ เมื่อเริ่มบทใหม่ จะต้องขึ้นหน้าใหม่เสมอโดยไม่ต้องกำกับเลขหน้าแต่ต้องนับหน้าด้วย การพิมพ์ตัวเลขกำกับหน้า อาจใช้เลขไทยหรือเลขอารบิกก็ได้ ถ้าจะเลือกแบบใดให้ใช้แบบนั้นตลอดทั้งฉบับ

                               3.2.2  การแบ่งหัวข้อ ให้ดำเนินการดังนี้

                                     1)  การแบ่งหัวข้อในแต่ละบทเป็นหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในเนื้อหาและลำดับการนำเสนอ

                                     2)  หัวข้อใหญ่หมายถึงหัวข้อสำคัญ ที่ไม่ใช่ชื่อเรื่องประจำบท แต่เป็นหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญของแต่ละบท ให้พิมพ์ชิดขอบด้านซ้าย ตัวอักษรใช้ตัวหนา ขนาด 18 พอยทต์ โดยไม่กำกับเลขข้างหน้า หากหัวข้อมีความยาวเกิน 1 บรรทัด ให้ขึ้นหัวข้อใหม่ชิดขอบซ้าย หรือในกรณีมีที่ว่างสำหรับพิมพ์ข้อต่อไปได้ไม่เกิน 1 บรรทัด ให้ขึ้นหัวข้อใหม่ในหน้าถัดไป และให้เว้นระยะ 1 บรรทัด สำหรับพิมพ์รายละเอียดของเนื้อหาต่อไป

                                     3)  หัวข้อย่อย  การพิมพ์หัวข้อย่อยให้ย่อหน้า โดยเว้นระยะ 7 ช่วงตัวอักษรแล้วพิมพ์ตัวที่ 8 ตั้งแท็บที่ 0.60 นิ้ว หรือ 1.52 เซนติเมตร ด้วยตัวอักษรปกติขนาด 16 พอยต์  กรณีเป็นข้อย่อยที่กำกับเลขให้ใช้ตัวเลขปกติขนาด 16 พอยต์ ถ้าไม่มีตัวเลขกำกับให้ใช้ตัวอักษรตัวหนาขนาด 16 พอยต์ หากมีข้อย่อยลำดับที่ 2 หรือ 3 และลำดับต่อ ๆ ไป ให้พิมพ์เนื้อหาไว้ในบรรทัดเดียวกันกับหัวข้อย่อย

                                     4)  การตัวเลขและเครื่องหมายกำกับลำดับความสำคัญของเนื้อหา สามารถทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

                                          แบบที่ 1 ใช้ระยะห่างของตัวอักษรกำกับ คือ หัวข้อใหญ่ให้ชิดริมซ้าย หัวข้อรอง ให้พิมพ์ที่ย่อหน้าแรก โดยเว้น 7 ช่วงตัวอักษรแล้วพิมพ์ตัวที่ 8 หลังจากตัวเลขหรือเครื่องหมายมหัพภาคให้เว้น 2 ช่วงตัวอักษรก่อนพิมพ์ข้อความ หัวข้อย่อยต่อ ๆ ไปเริ่มพิมพ์ให้ตรงกับอักษรตัวแรกของบรรทัดบน

                                            แบบที่ 2 การตั้งระยะห่างโดยใช้แท็บของคอมพิวเตอร์ สามารถตั้งได้ดังนี้

                                                แท็บที่ 1 ตั้งที่   0.60 นิ้ว  หรือ  1.52  เซนติเมตร

                                                แท็บที่ 2 ตั้งที่   0.85 นิ้ว  หรือ  2.16  เซนติเมตร     

                                                แท็บที่ 3 ตั้งที่   1.20 นิ้ว  หรือ  3.05  เซนติเมตร     

                                                แท็บที่ 4 ตั้งที่   1.65 นิ้ว  หรือ  4.19  เซนติเมตร     

                                                แท็บที่ 5 ตั้งที่   1.95 นิ้ว  หรือ  4.95  เซนติเมตร     

ดังตัวอย่าง

       1       1.  การจำแนกการพูดตาม...................................................................

       2            1.1  การพูดแบบ.........................................................................

       3                   1.1.1  การพูด......................................................................

       4                            1)  การพูด.................................................................

       5                                  (1)  การพูด..........................................................

                                           (2)  การพูด..........................................................

       1.1.2  การพูด......................................................................

                                 2)  การพูด..................................................................

                                              (1)  การพูด........................................................

                                              (2)  การพูด........................................................

                          1.2  การพูดแบบ..........................................................................    

                   การตั้งระยะห่างระหว่างตัวเลข เครื่องหมายมหัพภาค กับข้อความในเนื้อหาต้องให้มีระยะห่างเท่ากันทุกข้อและเท่ากันทั้งฉบับ กรณีการตั้งระยะห่างโดยใช้แท็บของคอมพิวเตอร์ ถ้าหัวข้อใดมีเลข 2 หลัก จะทำให้ระยะห่างระหว่างตัวเลข เครื่องหมายมหัพภาค กับข้อความในเนื้อหาน้อยลง ต้องปรับแก้ตามความเหมาะสม ข้อพึงระวังในการจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาไม่ควรเกิน 5 ข้อย่อย เพราะจะทำให้ลำบากในการกำหนดตัวเลขเพื่อกำกับ

                   4.  การพิมพ์ตาราง ภาพ แผนภูมิ แผนที่ กราฟ

                        4.1 ตารางประกอบด้วย เลขที่ของตาราง (Table Number) ชื่อของตางราง (Table Title) หัวตาราง (Table Heading)โดยปกติจะต้องพิมพ์อยู่หน้าเดียวกันทั้งหมด กรณีตารางยาวมากไม่สามารถนำสนอในหน้าเดียวจบได้ ให้พิมพ์ส่วนที่เหลือไว้หน้าถัดไป โดยพิมพ์เลขที่ตารางและตามด้วยคำว่า (ต่อ) แล้วพิมพ์ส่วนของหัวตารางอีกครั้ง เนื้อหาที่นำเสนอในตารางจะต้องมีอย่างน้อย 2 บรรทัด

                        4.2 ขนาดของตารางไม่ควรเกินกรอบหน้าเอกสาร สำหรับตารางขนาดใหญ่ควรลดขนาดลงตามความเหมาะสม แต่จะต้องชัดเจนพอที่จะอ่านได้ง่าย สำหรับตารางที่กว้างเกินกว่า ความกว้างของหน้าเอกสารให้พิมพ์แนวนอนโดยจัดส่วนบนของตารางหันเข้าขอบซ้ายของกระดาษพิมพ์และพิมพ์เลขหน้าเช่นเดียวการพิมพ์เลขหน้าในส่วนของเนื้อหา

                        4.4  ภาพ แผนภูมิ แผนที่และกราฟ ถ้ามีให้ใช้แนวทางเดียวกับการพิมพ์ตาราง

                        4.5  ตาราง ภาพ แผนภูมิ แผนที่และกราฟ กรณีคัดของผู้อื่นมานำเสนอ ให้บอกแหล่งที่มาท้ายตาราง ภาพ แผนภูมิ แผนที่และกราฟด้วย ถ้าผลงานเป็นภาษาอังกฤษให้แปลภาษาไทย

                   5.  การพิมพ์ภาคผนวกและอภิธานศัพท์ ถ้ามีให้ดำเนินการดังนี้

                                   5.1  ก่อนถึงภาคผนวก หรือ อภิธานศัพท์ ให้มีหน้าบอกตอนก่อนโดยพิมพ์คำว่าภาคผนวก หรือ อภิธานศัพท์ หรือ Appendix หรือ Glossary ไว้กลางหน้ากระดาษ โดยใช้อักษรตัวหนาสีดำ ขนาด 20 พอยต์ และต้องนับหน้านี้รวมกับหน้าอื่นๆ ด้วย (ก่อนบรรณานุกรมไม่ต้องมีหน้าบอกตอน)

                        5.2  ตัวภาคผนวกถ้ามีข้อมูลหลายเรื่อง อาจแยกนำเสนอโดยใช้ตัวอักษร ก ข ค กำกับในแต่ส่วน โดยพิมพ์หน้าบอกตอนย่อยว่า ภาคผนวก ก  ภาคผนวก ข หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษให้ใช้ว่า  Appendix A หรือ Appendix B กรณีชื่อภาคผนวกยาวมากให้จัดชื่อแยกเป็นสองบรรทัดหรือสามบรรทัดตามความเหมาะสม

                        5.3  หน้าแรกของหน้าอภิธานศัพท์เป็นหน้าบอกตอน โดยพิมพ์คำว่าอภิธานศัพท์ไว้กลางหน้ากระดาษ โดยใช้อักษรตัวหนาสีดำ ขนาด 20 พอยต์ และต้องนับหน้านี้รวมกับหน้าอื่นๆ ด้วย หน้าถัดไปให้พิมพ์คำว่าอภิธานศัพท์ไว้กึ่งกลางบรรทัดบนสุด ขนาดตัวอักษรเท่ากับหน้าบอกตอน คำที่นำเสนในอภิธานศัพท์ต้องเป็นคำที่ปรากฎมาแล้วในเนื้อหารายงาน ถ้ามีไม่มากให้ทำเป็นเชิงอรรถหรือบันทึกท้ายบทแทน

                        5.4 รูปแบบของการพิมพ์อภิธานศัพท์ ให้พิมพ์ตัวคำศัพท์ชิดซ้ายสุดหรือชิดแนวกรอบข้อความ ส่วนคำอธิบายศัพท์ให้พิมพ์บรรทัดถัดลงไปโดยย่อหน้าแรกประมาณ 7 ตัวอักษร คำศัพท์พิมพ์ด้วยอักษรตัวหนาสีดำ ขนาด 16 พอยต์ คำอธิบายศัพท์พิมพ์ด้วยตัวปกติขนาด 16 พอยต์

การเขียนอ้างอิง 

                   การอ้างอิง หมายถึง การแสดงแหล่งที่มาของหลักฐานที่ใช้ประกอบในการเขียน เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้อ่าน และถ้าผู้อ่านสนใจสามารถตรวจสอบหรือติดตามศึกษาเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเคารพลิขสิทธิ์ให้เกียรติเจ้าของความรู้ความคิดที่นำผลงานมาอ้างอิงด้วย

รูปแบบการเขียนอ้างอิง นิยมอ้างอิง 2 รูปแบบ  ดังนี้

                   1.  การอ้างอิงแบบเชิงอรรถ  (Foot Note)  คือ  การระบุที่มาของข้อความที่คัดลอกหรือสรุปมาเพื่ออ้างอิง  ซึ่งจัดพิมพ์ไว้ตรงส่วนล่างของกระดาษใต้เนื้อหาโดยมีเส้นคั่น และมีหมายเลขตรงกับข้อความที่นำมาอ้าง ซึ่งสถาบันราชภัฏสวนดุสิต (2542 : 181-195) ได้กล่าวถึงวิธีการอ้างอิงแบบเชิงอรรถว่ามีหลักการเขียนดังนี้

                       1.1  เขียนเชิงอรรถแยกจากเนื้อเรื่อง โดยมีเส้นคั่นระหว่างเนื้อเรื่องกับเชิงอรรถออกจากกัน ความยาวของเส้นประมาณกึ่งกลางหน้ากระดาษ

    1.2  การใส่ตัวเลขในเชิงอรรถ ให้ใส่เหนืออักษร ชื่อผู้แต่งเล็กน้อย หากจะใส่เลขไทยหรือเลขอารบิคก็ต้องใส่เหมือนกันทั้งเล่ม ส่วนตัวเลขในข้อความที่อ้างอิงจะอยู่ส่วนท้ายและตัวเลขต้องตรงกับส่วนที่เป็นเชิงอรรถ

                        1.3  การเรียงเลขในเชิงอรรถ อาจจะใช้การเริ่มเลขใหม่ตามลำดับทุกหน้า หรือใช้ตัวเลขเรียงกันทั้งเล่มรายงานก็ได้

                    1.4  รายละเอียดของเชิงอรรถประกอบด้วย

                              1.1.1  ชื่อหน่วยงานที่แต่งหนังสือ

                              1.1.2  ชื่อหนังสือ และครั้งที่พิมพ์

                              1.1.3  สถานที่พิมพ์และสำนักพิมพ์

                              1.1.4  ปีที่พิมพ์ ถ้าไม่มีปีที่พิมพ์ให้ใช้ตัวย่อ  ม.ป.ป. หมายถึง ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์

                              1.1.5  เลขหน้าที่นำเนื้อความมาอ้างอิง  ถ้าไม่มีเลขหน้า ให้ใช้คำว่า

“ไม่ปรากฎเลขหน้า”

           1.1.6  ตำแหน่งของเชิงอรรถควรอยู่หน้าเดียวกันกับข้อความที่นำมาอ้าง

                              1.1.7  เชิงอรรถทั้งหมด ต้องนำไปจัดไว้ในบรรณานุกรม

           1.1.8  การลงรายการชื่อผู้แต่งในเชิงอรรถ

                                      1)  ผู้แต่งเป็นบุคคล  ให้ใส่ชื่อและนามสกุล โดยไม่ต้องใส่คำนำหน้านาม  ยกเว้นคำนำหน้านามที่เป็นส่วนหนึ่งของนามแฝง  ส่วนราชทินนาม ฐานันดรศักดิ์ หรือ สมณศักดิ์ให้คงไว้

                                      2)  ผู้แต่งเป็นสถาบัน  ให้ใส่ชื่อสถาบันตามที่ปรากฏ ถ้ามีหน่วยงานย่อยให้ลงไปตามลำดับ  ถ้าสถาบันนั้นมีอักษรย่อเป็นที่รู้จักโดยแพร่หลาย  ให้ใช้อักษรย่อนั้นแทนได้ในการอ้างอิงครั้งต่อไป  ครั้งแรกให้ใส่ชื่อเต็ม

                                      3)  ผู้แต่ง 2 คน หรือ 2 สถาบัน  ให้ใส่ชื่อผู้แต่งชื่อแรก  ตามด้วยคำว่า “และ”  หรือ “and”  เชื่อมชื่อที่ 2

                                      4)  ผู้แต่ง 3 คน หรือ 3 สถาบัน ให้ใส่ชื่อผู้แต่งชื่อแรก  ตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค  ตามด้วยชื่อผู้แต่งชื่อที่  2  แล้ว ตามด้วย “และ”  หรือ “and”  เชื่อมชื่อที่ 3

                                      5)  ผู้แต่งมากกว่า 3 คนขึ้นไป หรือ มากกว่า 3 สถาบันขึ้นไป ให้ใส่ชื่อผู้แต่งชื่อแรก  ตามด้วยข้อความว่า “และคนอื่น ๆ ”  หรือ “และคณะ” (“and others”  หรือ  “et al”)

                                      6)  ผู้แต่งใช้นามแฝง ถ้าทราบนามจริงให้ใส่นามจริงไว้ในวงไว้ในวงเล็บหลังนามแฝง  ถ้าไม่ทราบนามจริงให้วงเล็บคำว่า “นามแฝง” หรือ “pseudo” หลังนามแฝง

                   การเขียนอ้างอิงแบบเชิงอรรถ เป็นการเขียนที่ต้องลงรายการค่อนข้างมาก จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร ส่วนใหญ่มักเขียนอ้างอิงแบบระบบนามปี ดังนั้น การเสนอตัวอย่างการเขียนอ้างอิงแบบเชิงอรรถ จึงเสนอพอให้เห็นถึงลักษณะการเขียนเท่านั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                   การเขียนอ้างอิงเชิงอรรถในหนังสือ

ชื่อผู้แต่ง.  (ปีที่พิมพ์).  ชื่อเรื่อง.  ครั้งที่พิมพ์.  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์.  เลขหน้า 

ศิริวรรณ  เสรีรัตน์.  (2540).  การโฆษณาและการส่งเสริมการตลาด.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

เอเอ็นการพิมพ์. หน้า 76-80.

                   หรือ การเขียนเชิงอรรถบทความในวารสาร

ผู้เขียนบทความ.  (ปีที่พิมพ์ : เดือน วันที่).  “ชื่อบทความ.”  ชื่อวารสาร.  ปีที่หรือเล่มที่ : เลขหน้า.

ศานติ  ภักดีคำ.  (2544 : กุมภาพันธ์).  “ต้นทางฝรั่งเศส ภาพสะท้อนขนบวรรณกรรมไทย–เขมร.”

ศิลปวัฒนธรรม.  22 : 69

     การพิมพ์เว้นระยะในรายการอ้างอิงเชิงอรรถ หลังเครื่องหมายมหัพภาค (.) ให้เว้นระยะ 2 ช่วงตัวอักษร หลังตัวอักษร หรือ เครื่องหมายจุลภาค (,) หรือ เครื่องหมายทวิภาค (:) ให้พิมพ์เว้นระยะเพียง 1 ช่วงตัวอักษรเท่านั้น

2.  การอ้างอิงระบบนาม-ปี

                        รูปแบบการอ้างอิงระบบนาม-ปี หรือ ระบบ APA (American Psychological Association) เป็นการระบุแหล่งที่มาของข้อความไว้ในวงเล็บแทรกอยู่กับเนื้อหาในตำแหน่งที่มีการอ้างอิง สมาคมจิตวิทยาอเมริกันเป็นผู้กำหนดระบบนี้ ปัจจุบันระบบ APA เป็นระบบที่ได้รับความนิยมเพราะสะดวกและประหยัดเนื้อที่ในการพิมพ์ มีรูปแบบง่ายต่อการศึกษาและปฏิบัติ ข้อสำคัญในการอ้างอิงระบบนี้คือ ต้องมีข้อมูล นามผู้เขียน ปีที่พิมพ์ และ เลขหน้า ประกอบข้อความที่อ้างอิง

                        รูปแบบการอ้างอิงขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละสถาบันจะกำหนด เพื่อถือปฏิบัติเป็นแนวเดียว ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (2550 : 17-23) ได้กำหนดให้ใช้การอ้างอิงระบบนาม-ปี ในการเขียนรายงานทางวิชาการ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

                   2.1 รูปแบบอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหาของผู้แต่งไทย ประกอบด้วย ชื่อและนามสกุลผู้เขียน ปีที่พิมพ์ ตามด้วยเลขหน้าที่อ้างอิง ซึ่งลักษณะการอ้างสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

                         2.1.1  แทรกหลังข้อความที่ยกมาอ้างอิง โดยนำข้อมูลนามผู้เขียน ปีที่พิมพ์ และ เลขหน้าที่อ้างอิงจะอยู่ในวงเล็บแทรกหลังข้อความที่ยกมา ดังตัวอย่าง

                                             สังคมชนบท ในความหมายของนักสังคมวิทยา หมายถึง

ชุมชนที่ลักษณะความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ต่ำ มีความแตกต่างทางสังคม

น้อย โอกาสที่จะเลื่อนสถานภาพทางสังคมมีน้อย การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นไป

อย่างช้า ๆ และประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำเกษตรกรรม (สุวรรณ บัวทวน.

2525 : 2)

            2.1.2 ถ้ามีการกล่าวนามเจ้าของเอกสารในเนื้อหา นิยมแทรกหลังชื่อเจ้าของเอกสารเฉพาะปีที่พิมพ์และเลขหน้าที่อ้างอิง ดังตัวอย่าง

       อรุณีประภา หอมเศรษฐี (2535 : 7) แบ่งองค์ประกอบของ

                  การสื่อสาร ออกเป็น 3 ส่วน คือ ผู้ส่งสาร สาร และผู้รับสาร

     2.2  รูปแบบอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหาของชาวต่างประเทศมี 2 รูปแบบเหมือนกัน คือ

            2.2.1  การอ้างอิงไว้หน้าข้อความ ให้ลงนามสกุลทับศัพท์เป็นภาษาไทย ตามด้วยข้อมูลในวงเล็บ คือ นามสกุลภาษาอังกฤษ  ปีที่พิมพ์ และเลขหน้าที่อ้างอิง ดังนี้

                     แบรดเลย์ (Bradley.  1983 : 103-307) กล่าวถึงหลักการพูดที่ดีว่า

ผู้พูดจะต้องคำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้...

           2.2.2  การอ้างอิงไว้ท้ายข้อความ ให้ลงข้อมูลนามสกุลภาษาอังกฤษ ปีที่พิมพ์

และเลขหน้าที่อ้างอิงไว้ในวงเล็บหลังข้อความที่นำมาอ้างอิง ดังตัวอย่าง

                    บทสรุป (Conclusion) เป็นส่วนของการสรุปเนื้อเรื่องเพื่อจบการพูด

การสรุปเรื่องที่ดีนั้นต้องทำให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจในการพูดและชื่นชมศรัทธา

ตัวผู้พูดที่สำคัญต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าบทพูดนี้จบสมบูรณ์แล้ว (Bradley. 1983 : 159)

     2.3  การอ้างอิงเอกสารที่มีผู้แต่งคนเดียว

                              2.3.1  ถ้าเป็นชาวต่างประเทศให้ใช้นามสกุลเท่านั้น ถ้าเป็นชาวไทยให้ใส่ชื่อก่อนแล้วตามด้วยนามสกุล ถึงแม้ผู้เขียนชาวไทยจะเขียนเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศก็ตาม เพราะถือเป็นแบบสากลยอมรับแล้วว่าประเทศไทยใช้รูปแบบนี้ ดังตัวอย่าง

                   (วิเศษ ชาญประโคน.  2550 : 45)

(Bradley.  1983 : 159-172)

                                2.3.2  ผู้แต่งที่มีฐานันดรศักดิ์ บรรดาศักดิ์ สมณศักดิ์ ให้คงตำแหน่งไว้ ดังตัวอย่าง

                   (พระยาอนุมานราชธน.  2510 : 25)

                                2.3.3  ผู้แต่งที่มีตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ หรือมีคำเรียกทางวิชาชีพ เช่น นายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ไม่ต้องใส่ตำแหน่งทางวิชาการ หรือคำเรียกทางวิชาชีพนั้นๆ และผู้แต่งที่มียศทหาร ตำรวจ ไม่ต้องใส่ยศไว้ข้างหน้า ยกเว้นยศที่ไม่มีการเลื่อนยศอีกแล้ว เช่น นายแพทย์ประเวศ วะสี หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์  ลงรายการดังนี้

                   (ประเวศ วะสี.  2538 : 15)

                   (อัจฉรา  ภาณุรัตน์.  2550 : 10)

            2.3.4  ผู้แต่งใช้นามแฝง ให้ลงข้อความว่านามแฝงในวงเล็บ ต่อจากชื่อนามแฝง

ดังตัวอย่าง

                   (ส.พลายน้อย (นามแฝง). 2537 : 209)


            2.3.5  กรณีชื่อผู้แต่งที่ระบุนามจริงและนามแฝง ใส่นามแฝงต่อจากนามจริง

ดังตัวอย่าง

                   (พระธรรมปิฏก (ป.อ.ประยุตโต). 2548 : 15)

     2.4  ผู้แต่ง 2 คน ให้ระบุชื่อและนามสกุลของผู้แต่งทั้ง 2 คน คั่นด้วยคำว่า และ สำหรับชาวต่างประเทศให้ใส่เฉพาะชื่อสกุลคั่นด้วย and ดังตัวอย่าง

(ธนู ทดแทนคุณ และ กุลวดี ทดแทนคุณ.  2549 : 35)

(Diana and Renshaw.  1979 :  94)

     2.5  ผู้แต่ง 3 คน ให้ลงชื่อผู้แต่ง คนที่ 1 เครื่องหมายจุลภาคคั่น ต่อด้วยคนที่ 2 แล้วมีคำว่า และ ต่อด้วยคนที่ 3 ดังตัวอย่าง

(นวลจันทร์ รัตนากร, ชุติมา สัจจานันท์ และ มารศรี ศิวรักษ์.  2529 : 45)

                   (Browns, McArtur and String. 2004 : 10-15)

     2.6  ผู้แต่งมากกว่า 3 คนขึ้นไป ผู้แต่งชาวไทยให้ลงเฉพาะชื่อและนามสกุลของผู้แต่งคนแรกตามด้วยคำว่า และคนอื่น ๆ สำหรับชาวต่างประเทศให้ลงเฉพาะนามสกุลของผู้แต่งคนแรก แล้วตามด้วยคำว่า et al. ยกเว้นเอกสารที่ระบุคำว่าและคณะให้ใช้คำว่า และคณะ แทนคำว่า คนอื่นๆ ดังตัวอย่าง

                   (อวยพร  พานิช และคนอื่น ๆ.  2547: 3)

                   (Luckett et al. 1993 : 25)

     2.7  ผู้แต่งที่เป็นสถาบัน ลงชื่อสถาบันการศึกษา ควรเขียนชื่อเต็มทุกครั้ง ดังตัวอย่าง

                   (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2547 : 50)

                   (California State University San Bernadino. 2005 : 55)

     2.8  ถ้าสถาบันนั้นเป็นหน่วยงานรัฐบาล อย่างน้อยต้องเริ่มต้นระดับกรมหรือเทียบเท่า ดังตัวอย่าง

                   (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546 : 7)

                   (National Council of Teachers of English. 1994 : 55)

                       2.9  คณะกรรมการที่เป็นสำนักงานอิสระให้ใส่ชื่อคณะกรรมการนั้นได้เลย ดังตัวอย่าง

                   (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2548 : 23)

              (Committee for Economic Development. 2001 : 40)

     2.10  ผู้แต่งที่เป็นสถาบันที่มีอักษรย่อเป็นทางการ หากสถาบันนั้นมีอักษรย่อเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายให้ใช้อักษรย่อของสถาบันนั้นได้ ดังตัวอย่าง

(สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พ.ว.). 2540 : 13-55)

                       2.11  ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่มีชื่อผู้รวบรวมหรือบรรณาธิการ หนังสือภาษาไทย ให้ลงชื่อผู้รับผิดชอบตามด้วยคำว่า (บก.) หรือ (ผู้รวบรวม) สำหรับภาษาอังกฤษให้ลง (ed.) ถ้าหนังสือที่มีบรรณาธิการมากกว่า 1 คน ให้ลง (eds.) ดังตัวอย่าง

(จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และ บาหยัน อิ่มสำราญ, (บก.).  2550 : 45-76 ).                               (Miller, (ed.). 1992 : 8)

                                  2.12  ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและชื่อผู้รวบรวมหรือบรรณาธิการ ให้ลงชื่อเรื่องหรือชื่อบทความได้เลย ดังตัวอย่าง

(ความจริงของแผ่นดิน. 2537 : 1-22)

                   (Study Field. 2005 : 29)

                       2.13  หนังสือแปลที่ระบุนามผู้เขียนที่เป็นเจ้าของเรื่องให้ลงนามเจ้าของเรื่อง ถ้าไม่ทราบให้ลงนามผู้แปล ดังตัวอย่าง

                    (Senduck. 2002 : 10)

                    (ปัญญา สมบูรณ์ศิลป์ (ผู้แปล). 2538 : 103)

                                 2.14 ผู้แต่งหลายคนเขียนเอกสารหลายเรื่องและต้องการอ้างถึงพร้อมกันให้ลงนามผู้แต่ง   เรียงตามลำดับอักษร คั่นด้วยเครื่องหมายอัฒภาค (Semi-Colon) ดังตัวอย่าง

                    (ชาตรี สำราญ. 2540 : 15 ; ยศ สันตสมบัติ. 2539 : 100-102 ; รุ่ง แก้วแดง. 2540 : 7)

                    (Chich. 1992 : 16 ; Crawhall. 1994 : 93 ; Forrest. 1994 : 191 ; Luckett. 1993 : 78-79)

                         2.15  การอ้างจากแผนที่ ภาพยนตร์ สไลต์ ฟิล์มสตริป เทปบันทึกเสียง ตลับ แผ่นเสียง เป็นต้น ให้บอกชื่อเรื่องคั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค (Comma) ตามด้วยประเภทของวัสดุนั้นๆ และปีที่จัดทำ ดังตัวอย่าง

                   (สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์, (แผนที่). 2543)

                   (Living Library, (Slide).2004)

     2.16  การบรรยาย ปาฐกถา สัมภาษณ์ ให้ระบุชื่อผู้บรรยาย ผู้แสดงปาฐกถา ผู้ให้สัมภาษณ์พร้อมวันที่ (ถ้ามีข้อมูล) ดังตัวอย่าง

(อัฉรา ภาณุรัตน์.  สัมภาษณ์.  2540 : มกราคม 5)

                   (Thanat Khoman, Interview. 1997 : July 7)

     2.17   การอ้างการสื่อสารระหว่างบุคคล เช่น จดหมาย การสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการสนทนาทางโทรศัพท์ ดังตัวอย่าง

(อานันท์ ปันยารชุน, จดหมาย. 2547 : มีนาคม 20)

              (Yasuyuki, Personal communication, 2000 September 10,) mentioned…

                       2.18 การอ้างเอกสารที่ปรากฏในเอกสารอื่น ๆ ให้ระบุนามผู้แต่งของเอกสารทั้งสองรายการ โดยระบุนามผู้แต่ง และปีที่พิมพ์ของเอกสารอันดับแรก ตามด้วยคำว่า อ้างถึงใน หรือ  Cited in แล้วระบุนามผู้แต่งของเอกสารอันดับรองและปีที่พิมพ์ ดังตัวอย่าง

(คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต.  2540 : 110 อ้างถึงใน พวา พันธุเมฆา.  2549 : 38)

             ถ้าเอกสารอันดับรองไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์ของเอกสารอันดับแรก ลงรายการดังนี้

                   (เฉลียว พันธุ์สีดา.  อ้างถึงใน กุลธิดา ท้วมสุข.  2540 : 20)

                       2.19 การอ้างถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่มีการอ้างอิงข้อมูล/สารนิเทศ ที่อยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้ใช้แบบแผนเดียวกับการอ้างอิงจากเอกสารโดยไม่ต้องระบุเลขหน้า ดังตัวอย่าง

                   (ลิขสิทธิ์ซอฟแวร์และกฎหมายลิขสิทธิ์.  2545)

                        2.20  ส่วนการอ้างอิงจากอินเทอร์เน็ตให้ระบุ ชื่อผู้แต่งหรือชื่อเรื่อง วันที่ เดือน ปีที่สืบค้น ดังตัวอย่าง

                   (ผ้าไหมเอเปก.  2547 : ตุลาคม 20)

การพิมพ์เว้นระยะในรายการอ้างอิงระบบนาม-ปี หลังเครื่องหมายมหัพภาค (.) ให้เว้นระยะ 2 ช่วงตัวอักษร หลังตัวอักษร หรือ เครื่องหมายจุลภาค (,) หรือ เครื่องหมายทวิภาค (:) ให้เว้นระยะเพียง 1 ช่วงตัวอักษรเท่านั้น

การเขียนบรรณานุกรม 

                   บรรณานุกรม เป็นการอ้างอิงเอกสารทั้งหมดที่ใช้ในการเขียนรายงานวิชาการ ระบุถึง  แหล่งที่มา ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพสิทธิของผู้เขียนตำราเดิมด้วย

รูปแบบการเขียนบรรณานุกรมแต่ละสถาบันจะกำหนดรูปแบบแตกต่างกันไป เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (2550 : 24-47)ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเขียนบรรณานุกรม สรุปได้ดังนี้

                   1.  หลักเกณฑ์ทั่วไปในการลงรายการบรรณานุกรม

                        1.1  ตำแหน่งของบรรณานุกรมจะอยู่ท้ายเล่มของรายงาน

                        1.2  ให้พิมพ์คำว่า “บรรณานุกรม” ไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษบรรทัดบนสุด

     1.3  เรียงสารสนเทศที่ใช้อ้างอิงทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน โดยเรียงลำดับตัวอักษรตัวแรกตามแบบพจนานุกรม ถ้ามีเอกสารอ้างอิงภาษาอังกฤษด้วยให้เรียงลำดับบรรณานุกรมภาษาไทยไว้ก่อนแล้วตามด้วยบรรณานุกรมภาษาอังกฤษ แต่ถ้ากรณีเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษให้เรียงลำดับบรรณานุกรมภาษาอังกฤษก่อนแล้วตามด้วยบรรณานุกรมภาษาไทย

   1.4  เริ่มต้นรายการบรรณานุกรม โดยพิมพ์ชิดขอบซ้ายมือ ถ้าไม่จบบรรทัดเดียว  ให้พิมพ์ต่อบรรทัดต่อมาในระยะ 7 ช่วงตัวอักษรแล้วพิมพ์ตัวที่ 8

                        1.5  ผู้แต่งคนเดียวกัน เขียนหลายเรื่องเมื่อนำมาลงในบรรณานุกรมไว้ด้วยกัน งานชิ้นแรกให้ระบุชื่อผู้แต่ง ชิ้นต่อมาให้ขีดเส้นตรงยาวต่อกัน 7 ช่วงตัวอักษรแทนนามผู้แต่ง ตามด้วยเครื่องมหัพภาคตัวที่ 8 แล้วจึงเขียนต่อตามระบบ

     1.6  การพิมพ์เว้นระยะในรายการบรรณานุกรม หลังเครื่องหมายมหัพภาค (.)ให้เว้นระยะ 2 ช่วงตัวอักษร หลังตัวอักษร หรือ เครื่องหมายจุลภาค (,) หรือ เครื่องหมายทวิภาค (:)ให้พิมพ์เว้นระยะเพียง 1 ช่วงตัวอักษรเท่านั้น ดังตัวอย่าง

                        1.7  ถ้ารายการแรกชื่อผู้แต่งเป็นคำย่อให้เรียงลำดับตัวอักษรตัวย่อมาก่อนคำเต็ม

     1.8  ถ้ารายการแรกเป็นชื่อเรื่องและชื่อเรื่องนั้นมีคำนำหน้านาม (Article) คือ a an the การเรียงไม่ต้องนับ a an the ให้พิจารณาตัวอักษรที่อยู่ถัดไป กรณีคำนำหน้านามอยู่ในประโยคที่เป็นชื่อเรื่อง ต้องเรียงตัวแรกคำนำหน้านาม

     1.9 การลงรายการบรรณานุกรม เอกสารใช้ข้อมูลจากหน้าปกใน (Title Page)เป็นสำคัญ

     1.10  รายการบรรณานุกรมจะต้องตรงกับรายการอ้างอิงที่ปรากฏในเล่ม ข้อมูลในรายการอ้างอิงจะถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่นั้น จะต้องตรวจสอบรายการบรรณานุกรมแต่ละรายการกับการอ้างอิงที่ปรากฏในเล่มและเอกสารต้นฉบับ

2.  รูปแบบการลงรายการบรรณานุกรม

                        2.1  หนังสือ

                               2.1.1  หนังสือทั่วไป  ลงรายการดังนี้

ผู้แต่ง.   (ปีที่พิมพ์).  ชื่อเรื่อง.  ครั้งที่พิมพ์.(ถ้ามี)  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์.

ประภาส ชลศรานนท์.  (2542).  เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก.  กรุงเทพฯ : พิฆเณศ พริ้นติ้ง

เซ็นเตอร์.

       1)  กรณี ผู้แต่ง 2 คน ลงรายการดังนี้

ธนู ทดแทนคุณ และ กุลวดี ทดแทนคุณ. (2549).  ภาษาไทย 1 ฉบับปรับปรุง.  พิมพ์ครั้งที่ 2.

กรุงเทพฯ : โอเอสพริ้นติ้ง เฮ้าส์.

                    2)  กรณี ผู้แต่ง 3 คน ลงรายการดังนี้

นวลจันทร์ รัตนากร, ชุติมา สัจจานันท์ และ มารศรี ศิวรักษ์.  (2529).  รางวัลวรรณกรรมไทย พ.ศ.  

2450-2529.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

                    3)  กรณีผู้แต่งมากกว่า 3 คนขึ้นไป ลงรายการดังนี้

อวยพร  พานิช และคนอื่น ๆ .  (2547).  ภาษาและหลักการเขียน.  พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

                    4)  กรณีผู้แต่งเป็นบรรณาธิการ ลงรายการดังนี้

จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และ บาหยัน อิ่มสำราญ, (บก.).  (2550).  ภาษากับการสื่อสาร.  พิมพ์ครั้งที่ 2.

                   กรุงเทพฯ : บริษัท พี. เพรส จำกัด 

                                        5)  กรณีผู้แต่งเป็นหน่วยงาน ลงรายการดังนี้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  (2542).  ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์  

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

                        6)  กรณีผู้แต่งใช้นามแฝง ลงรายการดังนี้

ว.วินิจฉัยกุล (นามแฝง).  (2541).  ของขวัญวันวาน.  กรุงเทพฯ : อักษรโสภณ.

                                        7)  ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง ลงรายการดังนี้ 

กฎหมายตราสามดวง.  (2502).   พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา.

        กรณีผู้แต่งเป็นชาวต่างประเทศ ให้ใช้หลักการลงรายการบรรณานุกรมเหมือนผู้แต่งชาวไทย แต่ต่างตรงที่การลงรายการผู้แต่งต้องพิมพ์นามสกุลก่อนต่อด้วยเครื่องหมายจุลภาค แล้วตามด้วยชื่อ ดังนี้

Diana, Hacker and Renshaw, Betty.  (1979).  A Practical for Writing.   Massachusettes :

Winthop Poblishers,Inc.

            2.1.2  หนังสือแปล  ลงรายการดังนี้

ผู้แต่ง.  (ปีที่พิมพ์).  ชื่อเรื่อง.  แปลจากเรื่องเดิม. โดย ชื่อผู้แปล.  ครั้งที่พิมพ์.(ถ้ามี)  สถานที่พิมพ์ : 

สำนักพิมพ์.

วอลแตร์.  (2538).  ก็องดิดด์.  แปลจาก CANDIDE.  โดย วัลยา วิวัฒน์ศร.  พิมพ์ครั้งที่ 2. 

กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ.

     2.2  บทความ            

            2.2.1  บทความในหนังสือ ลงรายการดังนี้

ผู้เขียนบทความ.  (ปีที่พิมพ์).  “ชื่อบทความ.”  ใน ชื่อเรื่อง.  ชื่อบรรณาธิการ.  หน้าที่บทความ

ปรากฏ.  ครั้งที่พิมพ์.(ถ้ามี)  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์.

ขนบพร วงศ์กาฬสินธุ์.  (2550). “โยนไข่ในงานศพคนไท.” ใน รวมบทความประชุมวิชาการ ศิลปะ 

และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง : เอกภาพและความหลากหลาย.  สมหมาย ชินนาค.  บรรณาธิการ. หน้า 255-275.  อุบลราชธานี :  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  

                               2.2.2  บทความในสารานุกรม  ลงรายการดังนี้

ผู้เขียนบทความ.  (ปีที่พิมพ์)  “ชื่อบทความ.”  ชื่อสารานุกรม.  เล่มที่ : เลขหน้า.  สถานที่พิมพ์ :

                   สำนักพิมพ์

ณัฏฐวี ทศรฐ และ สุริยา รัตนกุล.  (2533).  “ละว้า.”  สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์.  3 : 1-10.   

กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช.

                               2.2.3  บทความในวารสาร ลงรายการดังนี้

ผู้เขียนบทความ.  (ปี : เดือน).  “ชื่อบทความ”  ชื่อวารสาร.  ปีที่หรือเล่มที่ : เลขหน้า.

ศานติ ภักดีคำ.  (2544 : กุมภาพันธ์).  “ต้นทางฝรั่งเศส ภาพสะท้อนขนบวรรณกรรมไทย-เขมร.”

ศิลปวัฒนธรรม.  22: 69.

                               2.2.4  บทความในหนังสือพิมพ์ ลงรายการดังนี้

ผู้เขียนบทความ.  (ปี : เดือน วันที่).  “ชื่อบทความ.”  ชื่อหนังสือพิมพ์.  ฉบับที่ : เลขหน้า.

สุขสันต์ วิเวกเมธากร.  ( 2539 : มกราคม 3)  “จิ้งหรีดแมนชั่น.”   ผู้จัดการ.  ฉบับวีคเอ็นด์. : 35.

                        2.3  วิทยานิพนธ์

ผู้เขียนวิทยานิพนธ์.  (ปีที่พิมพ์).  ชื่อวิทยานิพนธ์.  ระดับวิทยานิพนธ์ ชื่อสาขาวิชา คณะ

ชื่อสถาบัน.

สาระ มีผลกิจ.  (2543).  สตรีในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5.  วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชา

                   ประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

                        2.4  จุลสาร เอกสารอัดสำเนาและเอกสารไม่ตีพิมพ์ ใช้รูปแบบลงรายการเหมือนหนังสือ ยกเว้นชื่อเรื่องให้ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ  ลงรายการดังนี้

สุวคนธ์ ผดุงอรรถ.  (2528).  “ระบบเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ.”  กรุงเทพฯ : หอสมุด

                   แห่งชาติ กรมศิลปากร.  (อัดสำเนา).

                        2.5  เอกสารที่ไม่เป็นเล่ม ลงรายการดังนี้

ผู้แต่งหรือผู้รับผิดชอบ.  ( ปี : เดือน วัน).  ชื่อเอกสาร.  เลขที่ของเอกสาร.(ถ้ามี) 

หอสมุดแห่งชาติ.  (จ.ศ. 1206).  จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 3.  เล่มที่ 12

                        2.6  บทวิจารณ์หนังสือในวารสาร ลงรายการดังนี้

ผู้วิจารณ์.  (ปี : เดือน).  วิจารณ์เรื่อง ชื่อเรื่องที่วิจารณ์.  โดย ชื่อผู้แต่งหนังสือ.  ชื่อวารสาร. 

ปีที่ : เลขหน้าที่อ้างอิง.

บาหยัน อิ่มสำราญ.  (2544 : กุมภาพันธ์).  วิจารณ์เรื่อง น้องสาว.  โดย อาษา ขอจิตต์เมตต์.

ศิลปวัฒนธรรม.  22 : 152-157.

                        2.7  การสัมภาษณ์ ลงรายการดังนี้

ชื่อผู้ให้สัมภาษณ์.  (ปี : เดือน วันที่การสัมภาษณ์).  ตำแหน่ง (ถ้ามี).  สัมภาษณ์.

ลาว คำหอม.  (2544 : ธันวาคม 22).  นักเขียน.  สัมภาษณ์.

                        2.8 วัสดุย่อส่วน ให้ลงรายบรรณานุกรมตามแบบเดิมของวัสดุนั้น ๆ และแจ้งประเภทวัสดุไว้ท้ายรายการ   ดังนี้  

“นิทานโบราณว่าด้วยราชสีห์กับช้าง”  (2417 : กรกฎาคม).  ดรุโณวาท. 1 : 48-52 ; ไมโครฟิล์ม.

                        2.9  สื่อที่ไม่ตีพิมพ์อื่น ๆ ลงรายการดังนี้ 

ผู้จัดทำ.  (หน้าที่ที่รับผิดชอบ).(ถ้ามี)  (ปีที่ผลิต).  ชื่อวัสดุ.  (ลักษณะของวัตถุ).  สถานที่ผลิต :

ปิยะฉัตร กรุณานนท์.  (ผู้จัดรายการ).  (ม.ป.ป.).  พูดอย่างมีศิลปะ สื่อสารตรงใจ ได้ผลตรงจุด.

(วีซีดี).  กรุงเทพฯ : บริษัท ไลบรารี่ จำกัด

                        2.10  การอ้างอิงเอกสารอันดับรอง ลงรายการดังนี้

ผู้แต่งเอกสารเดิม.  (ปีที่พิมพ์).  ชื่อเอกสารเดิม.  ครั้งที่พิมพ์.(ถ้ามี)  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์.

อ้างถึงใน ชื่อผู้แต่งเอกสารรอง.  ชื่อเอกสารรอง.  ครั้งที่พิมพ์.(ถ้ามี)  สถานที่พิมพ์ :

สำนักพิมพ์.

สิทธา พินิจภูวดล.  (2516).  การเขียน. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น. อ้างถึงใน บุญยงค์ เกศเทศ.  (2534). 

ภาษาวิทยานิพนธ์.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

                        2.11  การอ้างอิงสารสนเทศอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ต ลงรายการดังนี้

ผู้เขียนบทความ.  (ปี).  “ชื่อบทความ.”  [ประเภทของสื่อที่เข้าถึง].  เข้าถึงได้จาก : แหล่งข้อมูล

วัน เดือน ปีที่สืบค้น.

กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์.  (2548).  “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์.”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : 

http ://www.moc.go.th/thai/dbe/ecoco/e-com 3.html สืบค้น 20 เมษายน 2550.

                               กรณี บทความที่สืบค้นไม่ปรากฏผู้แต่งและปีที่พิมพ์ ให้ลงรายการดังนี้

“ลิขสิทธิ์ซอฟแวร์และกฏหมายลิขสิทธิ์.”  (ม.ป.ป.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :

http//oho.ipst.ac.th/Copyright. html สืบค้น 20 เมษายน 2550.

                  การอ้างอิงข้อมูลและการเขียนบรรณานุกรม นอกจากจะทำให้เห็นถึงความหลายหลายในการศึกษาค้นคว้าแล้ว ยังเป็นการให้ความเคารพความรู้ความคิดที่เป็นสิทธิของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาค้นคว้าพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นจรรยาบรรณที่สำคัญของนักสร้างสรรค์งานเขียนทางวิชาการ

บทสรุป 

การเขียนรายงานวิชาการ เป็นการนำเสนองานเขียนรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถใช้ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในสถาบันอุดมศึกษา ว่ามีความสามารถในการศึกษาค้นคว้า หรือการแสวงหาประสบการณ์จากแหล่งเรียนรู้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด และบรรลุเป้าหมายหรือไม่ นอกจากนี้ การเขียนรายงานวิชาการยังเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  รายงานวิชาการ เป็นผลงานที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ แล้วนำมาเรียบเรียงตามแบบแผนที่แต่ละสถาบันการศึกษากำหนด รายงานวิชาการมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ส่วนประกอบต้น ได้แก่ ปกนอก ใบรองปก ปกใน คำนำ สารบัญ หรือ อาจมีสารบัญตาราง  ภาพ  หรือ แผนภูมิด้วย ก็ได้  ส่วนที่ 2 คือส่วนเนื้อหา ประกอบด้วย เนื้อหาสาระ การอ้างอิง ภาพ แผนภูมิ หรือ ตาราง ส่วนที่ 3 คือ ส่วนประกอบตอนท้าย ประกอบด้วย บรรณานุกรม ภาคผนวก  ดรรชนีและอภิธานศัพท์  ขั้นตอนการเขียนรายงานวิชาการ  ขั้นที่  1  การเลือกเรื่องและการตั้งชื่อเรื่อง มีหลักการว่า ต้องเป็นที่ตนเองสนใจ  มีความรู้อยู่บ้าง  มีแหล่งอ้างอิงเพียงพอ  และต้องเป็นเรื่องเหมาะสมกับเวลาที่ทำด้วย  ขั้นที่  2  การสำรวจและรวบรวมข้อมูล ขั้นที่ 3  การเขียนโครงเรื่อง ขั้นที่ 4 การค้นคว้ารวบรวมและจดบันทึก กล่าวคือ ศึกษาค้นคว้าแล้วจดบันทึกลงบัตรข้อมูลตามโครงเรื่องที่กำหนด  ขั้นที่ 5  การเรียบเรียงและจัดทำรูปเล่ม

รายงานวิชาการที่ดี  จะต้องมีคุณลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นรายงานที่ค้นคว้ามาอย่างหลากหลายดูจากระบบการอ้างอิงและดูความสมบูรณ์ในเนื้อหาและภาษาที่ใช้ว่าเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอหรือไม่  นอกจากนี้ ยังเป็นรายงานที่ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นและนำเสนอแนวคิดของตนเองร่วมอย่างสร้างสรรค์ด้วย 


Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 5,510 Today: 4 PageView/Month: 38

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...